จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

ชื่อเรื่อง (The Title)

 นิภา ศรีไพโรจน์  (http://www.watpon.com/Elearning/res19.htm) ได้รวบรวมไว้ว่า   ชื่อเรื่องวิจัยนับเป็นจุดแรกที่จะดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน และทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจในปัญหารวมทั้งวิธีการดำเนินการวิจัยของผู้วิจัยอีกด้วย ดังนั้นการตั้งชื่อเรื่องวิจัยจึงต้องเขียนให้ชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่เขียนอย่างคลุมเครือ ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงต้องระมัดระวังในการตั้งชื่อเรื่องวิจัยให้เหมาะสม ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้
1. ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยให้สั้น โดยใช้คำที่เฉพาะเจาะจง หรือสื่อความหมายเฉพาะเรื่อง และควรเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย กะทัดรัด แต่ชื่อเรื่องก็ไม่ควรจะสั้นเกินไปจนทำให้ขาดความหมายทางวิชาการ
2. ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยให้ตรงกับประเด็นของปัญหา เมื่อผู้อ่านอ่านแล้วจะได้ทราบว่าเป็นการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาอะไรได้ทันที อย่างตั้งชื่อเรื่องวิจัยที่ทำให้ผู้อ่านตีความได้หลายทิศทาง และอย่าพยายามทำให้ผู้อ่านเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากเกินความเป็นจริง
3. ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยโดยการใช้คำที่บ่งบอกให้ทราบถึงประเภทของการวิจัย ซึ่งจะทำให้ชื่อเรื่องชัดเจน และเข้าใจง่ายขึ้น เช่น
     3.1 การวิจัยเชิงสำรวจ มักใช้คำว่า การสำรวจ หรือการศึกษาในชื่อเรื่องวิจัยหรืออาจระบุตัวแปรเลยก็ได้ เช่น การศึกษาการใช้สารเคมีของชาวอีสาน หรือการสำรวจการใช้สารเคมีของชาวอีสาน หรือการใช้สารเคมีของชาวอีสาน เป็นต้น
     3.2 การวิจัยเชิงศึกษาเปรียบเทียบ การตั้งชื่อเรื่องวิจัยในลักษณะนี้ มักจะใช้คำว่า การศึกษา เปรียบเทียบ หรือการเปรียบเทียบ นำหน้า เช่น การศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านของนักเรียนในเขตและนอกเขตเทศบาล ของจังหวัดมหาสารคาม
     3.3 การวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ การวิจัยประเภทนี้จะใช้คำว่า การศึกษาความสัมพันธ์ หรือความสัมพันธ์ นำหน้าชื่อเรื่องวิจัย เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างความขัดแย้งกับพ่อแม่และการปรับตัวของวัยรุ่น เป็นต้น
    3.4 การวิจัยเชิงการศึกษาพัฒนาการ การวิจัยประเภทนี้มักใช้คำว่า การศึกษาพัฒนาการหรือพัฒนาการนำหน้าชื่อเรื่องวิจัย เช่น การศึกษาพัฒนาการด้านการเขียนของเด็กก่อนวัยเรียนในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม
    3.5 การวิจัยเชิงทดลอง การตั้งชื่อเรื่องวิจัยประเภทนี้อาจตั้งชื่อได้แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของการทดลอง เช่น อาจใช้คำว่า การทดลอง การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การศึกษา การเปรียบเทียบ ฯลฯ นำหน้า หรือาจจะไม่ใช้คำเหล่านี้นำหน้าก็ได้ เช่น การทดลองเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในจังหวัดอ่างทอง การวิเคราะห์หาปริมาณของกรดอะมิโนที่จำเป็นในปลายรากข้าวโพดหลังจากแช่ในสารละลายน้ำตาลชนิดต่างๆ การสังเคราะห์กรดไขมันจากอะเซติลโคเอ การศึกษาองค์ประกอบต่าง ๆ ในยางมะละกอ การเปรียบเทียบการสอนอ่านโดยวิธีใช้ไม่ใช้การฟังประกอบ การสกัดสารอินดิเคเตอร์จากดอกอัญชัน ฯลฯ
4. ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยในลักษณะของคำนาม ซึ่งจะทำให้เกิดความไพเราะ สละสลวยกว่าการใช้คำกริยานำหน้าชื่อเรื่อง เช่น แทนที่จะใช้คำว่า ศึกษา เปรียบเทียบ สำรวจ ก็ควรใช้คำที่มีลักษณะเป็นคำนามนำหน้า เช่น การศึกษา การเปรียบเทียบ การสำรวจ ฯลฯ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ไม่ดี : ศึกษาวงจรชีวิตของเห็บสุนัข
ดีขึ้น : การศึกษาวงจรชีวิตของเห็บสุนัข
ไม่ดี : เปรียบเทียบความเกรงใจระหว่างนักเรียนชายกับนักเรียนหญิงของโรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองเลย
ดีขึ้น : การเปรียบเทียบความเกรงใจระหว่างนักเรียนชายกับนักเรียนหญิงของโรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองเลย
5. ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยที่ประกอบด้วยข้อความเรียงที่สละสลวยได้ใจความสมบูรณ์ คือเป็นชื่อเรื่องที่ระบุให้ทราบตั้งแต่จุดมุ่งหมายของการวิจัย ตัวแปร และกลุ่มตัวอย่างที่จะศึกษาวิจัยด้วย เช่น การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนการสอบคัดเลือกกับเกรดเฉลี่ยสะสมและเจตคติต่อวิชาชีพครูของนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2544 อนึ่ง นักวิจัยบางท่านก็นิยมเขียนชื่อเรื่องวิจัยสั้น ๆ โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดลงไป เช่น บุคลิกภาพของนักศึกษาครู เป็นต้น

 

มรภ. ลำปาง(www.netra.lpru.ac.th/~phaitoon/restest/name&obj.doc ) ได้รวบรวมไว้ว่า  ชื่อเรื่องที่จะวิจัยจะต้องตรงกับปัญหาที่จะศึกษา  มีความชัดเจนทางด้านภาษา  ผู้อ่านเห็นแล้วสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าจะทำอะไร  ไม่ต้องตีความอีก  ในที่นี้มีข้อเสนอแนะในการตั้งชื่อเรื่องวิจัย  ซึ่งประมวลจากประสบการณ์ในการศึกษางานวิจัย  ดังนี้
1.ตั้งชื่อเรื่องโดยใช้ภาษาง่าย  สั้น  กระซับ  และชัดเจน  ครอบคลุมปัญหาที่จะวิจัย  เช่น  การพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อสร้างเสริมสมรรถภาพด้านการสอนของครูประจำการระดับประถมศึกษา 
2. ชื่อเรื่องต้องสามารถบอกได้ว่าเป็นการศึกษาอะไร  กับใคร  หรือของใคร  ที่ไหน  (ถ้าเกี่ยวข้องกับสถานที่)  หรือเมื่อไร (ถ้าเกี่ยวข้องกับเวลา)   เช่น  การศึกษาบัญหาและความต้องการเพื่อจัดโครงการศึกษานอกระบบโรงเรียนในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย 
3. ชื่อเรื่อง  ต้องไม่ยาวจนดูฟุ่มเฟือย  อ่านแล้วเข้าใจยาก  หรือจับประเด็นไม่ได้  เช่น การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสมรรถวิสัย  ในกิจกรรมเสริมหลักสูตรภาษาไทยกับความสนใจในการติดตามข่าวสาร  เหตุการณ์จากหนังสือพิมพ์  ของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4  ของโรงเรียนรัฐบาลในเขตจังหวัดชุมชม   ภาคใต้  ของประเทศไทย  ชื่อเรื่องที่ยาวแต่ไม่ฟุ่มเฟือย เช่นการศึกษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคของนักเรียนชาย : เปรียบเทียบระหว่างนักเรียนอาชีวศึกษากับนักศึกษามหาวิทยาลัยปีที่ 1 ในเขตกรุงเทพมหานคร
4. ชื่อเรื่อง ต้องไม่สั้นจนเกินไป  อ่านไม่รู้เรื่องว่าทำอะไร  เช่น  การศึกษาปัญหาการใช้สารเสพติด  เป็นการศึกษาที่ไหน  กับใคร  เปรียบเทียบการใช้ห้องสมุดประชาชน เปรียบเทียบเรื่องอะไร  ระหว่างใครกับใคร  ที่ไหน
5. ชื่อเรื่อง  ควรขึ้นต้นด้วยคำนาม  เพื่อให้เกิดความไพเราะสละสลวย  ที่นิยมกัน  คือ  มักจะขึ้นด้วยคำว่า   การศึกษา  การสำรวจ  การวิเคราะห์  การเปรียบเทียบ เช่น การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถทางสมองกับความสามารถทางการคิดแก้ปัญหาในวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษา   การเปรียบเทียบพฤติกรรมเชิงจริยธรรมของนักเรียนจากการประเมินผลหลักสูตรประถมศึกษา  พุทธศักราช  2503  และพุทธศักราช  2521” 
6. ชื่อเรื่องวิจัยควรระบุถึงประเภท  หรือวิธีการศึกษา  ตัวแปรสำคัญ  กลุ่มตัวอย่างหรือกลุ่มเป้าหมายลงไปด้วย เช่น การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรับผิดชอบกับวินัยในตนเองของอาจารย์ในสถาบันราชภัฏ
บุญชม  ศรีสะอาด (2554:14)  ได้รวบรวมไว้ว่า ชื่อเรื่องควรมีความหมายสั้น กะทัดรัดและชัดเจน เพื่อระบุถึงเรื่องที่จะทำการศึกษาวิจัย ว่าทำอะไร กับใคร ที่ไหน อย่างไร เมื่อใด หรือต้องการผลอะไร ยกตัวอย่างเช่น ประสิทธิผลของการใช้วัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันกับทหารในศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ 2547” ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ชื่อที่ยาวมากๆ อาจแบ่งชื่อเรื่องออกเป็น 2 ตอน โดยให้ชื่อในตอนแรกมีน้ำหนักความสำคัญมากกว่า และตอนที่สองเป็นเพียงส่วนประกอบหรือส่วนขยาย เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการใช้ถุงยางอนามัย เพื่อป้องกันโรคของนักเรียนชาย : การเปรียบเทียบระหว่างนักเรียนอาชีวศึกษากับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในกรุงเทพมหานคร 2547”  นอกจากนี้ ควรคำนึงด้วยว่าชื่อเรื่องกับเนื้อหาของเรื่องที่ต้องการศึกษาควรมีความสอดคล้องกันการเลือกเรื่องในการทำวิจัยเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ที่ต้องพิจารณารายละเอียดต่างๆ หลายประเด็น โดยเฉพาะประโยชน์ที่จะได้รับจากผลของการวิจัย ในการเลือกหัวเรื่องของการวิจัย มีข้อควรพิจารณา 4 หัวข้อ คือ
1.1 ความสนใจของผู้วิจัยควรเลือกเรื่องที่ตนเองสนใจมากที่สุด และควรเป็นเรื่องที่ไม่ยากจนเกินไป
1.2 ความสำคัญของเรื่องที่จะทำวิจัยควรเลือกเรื่องที่มีความสำคัญ และนำไปใช้ปฏิบัติหรือสร้าแนวความคิดใหม่ๆ ได้โดยเฉพาะเกี่ยวกับงานด้านเวชศาสตร์ครอบครัวหรือเชื่อมโยงกับระบบสุขภาพ
1.3 เป็นเรื่องที่สามารถทำวิจัยได้เรื่องที่เลือกต้องอยู่ในวิสัยที่จะทำวิจัยได้ โดยไม่มีผลกระทบอันเนื่องจากปัญหาต่างๆ เช่นด้านจริยธรรม ด้านงบประมาณ ด้านตัวแปรและการเก็บข้อมูล ด้านระยะเวลาและการบริหาร ด้านการเมือง หรือเกินความสามารถของผู้วิจัย
1.4 ไม่ซ้ำซ้อนกับงานวิจัยที่ทำมาแล้วซึ่งอาจมีความซ้ำซ้อนในประเด็นต่างๆ ที่ต้องพิจารณาเพื่อหลีกเลี่ยง ได้แก่ ชื่อเรื่องและปัญหาของการวิจัย (พบมากที่สุด) สถานที่ที่ทำการวิจัย ระยะเวลาที่ทำการวิจัย วิธีการ หรือระเบียบวิธีของการวิจัย

สรุป ชื่อเรื่องวิจัยนับเป็นจุดแรกที่จะดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน และทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจในปัญหารวมทั้งวิธีการดำเนินการวิจัยของผู้วิจัยอีกด้วย ดังนั้นการตั้งชื่อเรื่องวิจัยจึงต้องเขียนให้มีความหมายสั้น กะทัดรัด  เข้าใจง่าย มีความชัดเจนทางด้านภาษา  ผู้อ่านเห็นแล้วสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าจะทำอะไร  ไม่ต้องตีความอีก ไม่เขียนอย่างคลุมเครือ ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงต้องระมัดระวังในการตั้งชื่อเรื่องวิจัยให้เหมาะสม
ที่มา : เอกสารประกอบคำสอนเรื่อง "การเลือกปัญหาในการวิจัย" โดย นิภา ศรีไพโรจน์ เว็บไซค์  http://www.watpon.com/Elearning/res19.htm     เข้าถึงเมื่อ วันที่ 31 ตุลาคม 2555.
มรภ. ลำปาง   เว็บไซค์   www.netra.lpru.ac.th/~phaitoon/restest/name&obj.doc        
เข้าถึงเมื่อ วันที่ 31 ตุลาคม 2555.
บุญชม  ศรีสะอาด.  (2554).  การวิจัยเบื้องต้น.  (พิมพ์ครั้งที่ 9).  กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น